เกษียณอย่างเกษม THE STORY ชวนศึกษาสถานณ์ สังคมผู้สูงอายุศรีสะเกษ จากปี 63 สู่ปี 66

THE STORY อุทุมพรพิสัย
0

    งานเลี้ยงต้องมีวันเลิกลา คนทำงานเองเมื่ออายุย่าง 60 ปี ก็ถึงคราวที่ต้องเกษียณอายุการทำงานสักที อายุไม่ใช่เพียงตัวเลขว่าเราใช้ชีวิตมานานเท่าไรแล้ว แต่ยังบ่งบอกเราว่าขณะอายุเราตอนนี้ต้องคำนึงเรื่องอะไรแล้วบ้าง THE STORY จึงอยากชวนมองสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุศรีสะเกษ และอำเภออุทุมพรพิสัยว่าเป็นเช่นไร


    
    เนื่องจากกรมสุขภาพจิตได้รายงานว่า ประเทศไทยได้เข้าใกล้สังคมสูงวัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ขณะที่ตัวเลขของกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ณ วันที่31 ธันวาคม พ.ศ.2562 พบว่า ประเทศไทยมีประชากรทั้งสิ้น 66.5 ล้านคน เฉพาะผู้สูงอายุมีมากถึง 11.1 ล้านคนหรือคิดเป็น 16.73% ส่วนข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าในปี พ.ศ.2563 ประเทศไทยมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวนมากกว่า 12 ล้านคน หรือราว 18% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และจะเพิ่มเป็น 20% ในปี พ.ศ.2564 ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และกำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ คาดการณ์ได้ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวในปี พ.ศ.2565 และในปี พ.ศ. 2573 จะมีสัดส่วนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 26.9 ของประชากรทั้งประเทศ

    โดยอีก 20 ปีข้างหน้าคาดการณ์ว่าจำนวนผู้สูงอายุวัยปลาย 80 ปีขึ้นไปจะมีมากถึง 3.4 ล้านคน โดยคิดเป็นร้อยละ 5.2 ของประชากรทั้งหมด

    ซึ่งค่อนข้างที่จะสอดคล้องกับ รายงานคุณภาพชีวิตคนศรีสะเกษ จากข้อมูล จปฐ. และข้อมูล กชช. 2ค ปี 64  จำนวนประชากรของจังหวัดศรีสะเกษ ปี พ.ศ. 2566 รวมทั้งสิ้น 1,458,580 คน ในที่นี้เราต้องศึกษาจากประชากรที่อาศัยอยู่จริงไม่นับประชากรที่ย้ายการศึกษา การทำงาน ไปยังต่างจังหวัดซึ่งข้อมูลประชากรอาศัยจริงอ้างอิงปี พ.ศ. 2564 มีจำนวน 937,400 คน และมีจำนวนผู้สูงอายุ(60 ปีขั้นไป) จำนวน 214,211 คน คิดเป็นร้อยละ ร้อยละ 22.85 ประชากรช่วงอายุ 35-49 ปี จำนวน 200,997 คน คิดเป็นร้อยละ 21.44 เมื่อเปรียบเทียบประชากรผู้สูงอายุกับประชากรวัยทำงานแล้วจะเห็นภาพสะท้อนว่าขณะนี้ จังหวัดศรีสะเกษมีประชากรผู้สูงอายุมากกว่าครึ่งของวัยแรงงานและอัตราการพึ่งพิงโดยรวมยังอยูในเกณฑ์ต่ำ กล่าวคือ คนวัยแรงงาน ที่สามารถทำงานเลี้ยงชีพได้ นอกจากเลี้ยงตัวเองแล้วยังต้องมีภาระเลี้ยงเด็กและคนชราเพิ่มขึ้นด้วย 


    ในปี พ.ศ.2566 จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานข้อมูลอำเภออุทุมพรพิสัย ว่ามี ประชากรรวม 82,241 คน เป็นผู้สูงอายุ จำนวน 9,590 คน คิดเป็นร้อยละ 11.66 และมีผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ถึง 139 คน จากที่กล่าวมาข้างต้น จึงอยากชวนให้ท่านผู้อ่านได้คิดว่าปัจจุบันนี้จังหวัดศรีสะเกษและอำเภออุทุมพรพิสัยเราเองก็กำลังเข้าสู่สังคมผู้สู่อายุแล้วเช่นกันและอยากชวนให้สังเกตตัวท่านเองว่าขณะนี้นอกจากต้องทำงานเลี้ยงตัวเองแล้ว ท่านยังมีหน้าที่ต้องดูแลผู้สูงอายุหรือไม่ การดูแลผู้สูงอายุไม่ใช่การดูแลเพียงแต่คนในครอบครัวเท่านั้นแต่ยังหมายถึงการช่วยเหลือระหว่างคนในจังหวัดเราเองด้วยเช่นกัน 


ปิรามิดประชากร อำเภออุทุมพรพิสัย ปี พ.ศ. 2563


คนศรีสะเกษเกิดต่ำ วัยแรงงานลด สวนทางกับผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงมาก

    ข้อมูลสถิติชีพของจังหวัดศรีสะเกษ พบว่า อัตราการเกิดมีชีพต่อพันประชากร ในปี 2559-2563
เท่ากับ 7.94, 7.59, 7.15, 6.86 และ 6.67 มีแนวโน้มลดลง อัตราตายต่อพันประชากร ในปี 2559-2563 เท่ากับ
6.28, 6.29, 6.17, 6.80 และ 6.64 มีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งนี้ยังไม่นับรวมจำนวนประชากรวัยเรียน วัยทำงานที่ย้ายถิ่นฐานออกจากจังหวัดศรีสะเกษ ทำให้ปัจจุบันนั้นจังหวัดศรีสะเกษไม่เพียงแต่มีจำนวนแรงงานลดน้อยลง แต่จำนวนประชากรนักเรียน นักศึกษา ก็มีจำนวนลดน้อยตามไปด้วย 

    จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าสถานการณ์ผู้สูงอายุในจังหวัดศรีสะเกษนั้นยังน่าเป็นห่วง 
คงเป็นการบ้านชิ้นใหญ่อีกชิ้นของผู้ว่าราชการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะต้องให้ความสนใจสถานการณ์ผู้สูงอายุในจังหวัดมากยิ่งขึ้น ว่าจะมีโครงการหรือนโยบายที่จะดูแลผู้สูงอายุในจังหวัดศรีสะเกษอย่างไร รวมไปถึงจะทำอย่างไรที่จะรณรงค์ให้ประชากรในจังหวัดสร้างครอบครัวเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรอย่างมีคุณภาพ 

    หากเราไม่ให้ความสนใจกับสถานณ์นี้ เมื่อสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้นขณะที่มีวัยทำงานเท่าเดิมหรือลดลงจะมีผลกระทบโดยตรงกับคนวัยทำงานที่จะต้องทำงานมากขึ้นและต้องแบกรับภาระดูแลผู้สูงอายุในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย บางครั้งอาจทำให้ผู้สูงอายุบางครอบครัวอายุขาดความอบอุ่นหรืออาจถูกทอดทิ้งได้

    ไม่เพียงเเต่หน่วยงานรัฐที่ต้องดูแลแต่ในฐานะประชาชนทั่วไปเองก็ควรให้ความสำคัญกับการวางแผนเป้าหมายการเกษียณว่าจะเกษียณอย่างไรให้มีคุณภาพ สามารถดูแลตัวเองได้เมื่อยามที่คนในครอบครัวแยกย้ายออกไปหรือยามที่ตนเองต้องอยู่ตามลำพัง

อ้างอิงจาก
กรมสุขภาพจิต
กรมกิจการผู้สูงอายุ
 DOH Dashboard กรมอนามัย
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ
แผนพัฒนาจังหวัดศรีสะเกษ พ.ศ. 2566-2570 (ฉบับปี พ.ศ. 2566)

สังคมผู้สูงอายุ,สังคมผู้สูงอายุในปัจจุบันและเศรษฐกิจในประเทศไทย,สังคมผู้สูงอายุศรีสะเกษ

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น (0)

#buttons=(ยินยอม) #days=(20)

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของคุณ ดูเพิ่มเติม
Accept !
To Top